วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2558

การละเล่นพื้นบ้าน

ก่อนเราจะเริ่มการละเล่นแบบไทยๆ เราก็มาดูกันก่อนดีกว่า ว่าการละเล่นพื้นบ้านคืออะไร ?

          การละเล่นของไทยในสมัยก่อนนั้นมีวิธีการเล่นที่สนุกสนานและหลากหลาย การละเล่นของเด็กสมัยก่อนที่นิยมเล่นกันในชีวิตประจำวันนั้น และสืบทอดมาจากคนรุ่นก่อน ซึ่งบางประเภทมีบทร้อง และท่าทางประกอบ ส่วนกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มักมีการกำหนดขึ้นเองตามข้อตกลงของกลุ่มผู้เล่นในแต่ละท้องถิ่น บางครั้งก็เล่นตามความสนุกสนานร่าเริง แต่บางครั้งก็เล่นเพื่อการแข่งขันซึ่งทำให้ได้รับความบันเทิงจากการละเล่นไม่ใช่น้อย ขณะเดียวกันก็ยังได้เพิ่มพูนทักษะทางร่างกายและจิตใจ ไปพร้อมกันด้วย ซึ่งการละเล่น พื้นบ้านของไทยเราก็มีให้เลือกเล่นมากมายตามแต่เวลา โอกาส และสถานที่เอื้ออำนวย แต่ในปัจจุบันสังคม มีการเปลี่ยนแปลงไปทำให้การละเล่นพื้นบ้านของไทยนั้นเลือนหายไปจึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่คนรุ่นต่อมาอาจไม่ทราบถึงการละเล่นของไทยที่สนุกสนาน เพราะไม่รู้ถึงวิธีการเล่นและประโยชน์ของการละเล่นพื้นบ้าน

          ดังนั้นเรื่อง การละเล่นพื้นบ้านของเรา ที่เป็นที่นิยมเล่นกันกับเพื่อน ๆ ในสมัยเด็ก ๆ ในหมู่บ้านเรา ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามาก และเราก็ได้ผ่านช่วงนี้มาแล้วด้วยเหมือนกัน ซึ่งเชื่อว่าทุกคนจะต้องผ่านวัยเด็กมาแล้วกันทั้งนั้น หรือบางคนอาจจะกำลังอยู่ในช่วงนี้ก็ได้ ในช่วงวัยเด็กเป็นช่วงที่สนุกมากจนไม่อยากผ่านช่วงนี้มาเลย กลุ่มผู้ศึกษาจึงเลือกศึกษา เรื่องการละเล่นพื้นบ้านของเรา เพื่อเป็นอนุรักษ์วัฒนธรรมการละเล่นของหมู่บ้านและการละเล่นของไทยที่กำลังจะสูญหายให้เป็นที่รู้จักเพื่อชนรุ่นหลังสืบไป

          หลังจากที่ได้ทราบกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตอนนี้ก็ถึงเวลาที่จะมาดูกันแล้วว่าการละเล่นของแต่ละภาคในประเทศไทยเราที่มีมาแต่โบราณมีอะไรบ้าง ?!


:+:การละเล่นพื้นบ้านภาคกลาง:+:
     เอาล่ะ! เรามาเริ่มที่ภาคกลางกันดีกว่า จะมีอะไรให้เล่นบ้างหนอ~~

หมากเก็บ

     ก็อย่างที่ชื่อบอกมา...ก็คือการใช้หมากนั่นเอง!! อ๊ะ ! ไม่ใช่ๆ หมากเก็บเค้าจะใช้หินหรือก้อนกรวดเล่นกันนะคะ (*แต่ระวังอย่าโยนไปโดนหัวเพื่อนล่ะ)
วิธีการเล่น
          ใช้สิ่งสมมติเป็นหมาก ๕ ก้อน เริ่มต้นด้วยการทอด คือ การเทปล่อยให้หมากทั้ง ๕ กระจายไปบนพื้นกระดาน ถ้าก้อนไหนอยู่ห่างถือเป็นตัวนำและขึ้นต้นด้วยหมากหนึ่ง คือ หยิบนำลูกไว้ต่างหากโยนขึ้นไป แล้วปล่อย ๔ ลูกกระจายบนพื้น ทีละลูก และรับลูกที่โยนให้ได้ในขณะเดียวกัน ถ้าเก็บได้หมดก็ต่อหมาก ๒ หมาก ๓ หมาก ๔ ต่อไป ด้วยวิธีเล่นแบบเดียวกัน แต่ถ้าเก็บลูก ๓ ลูกพร้อมกัน เรียกว่า หมาก ๓ แล้วจึงเก็บอีก ๑ ลูก ถ้ารวมหมดเรียกว่า หมาก ๔ และลูกโยนนั้นจะตกไม่ได้ ถ้าตกนับเป็นตาย ต้องให้คนอื่นเล่นต่อไป หมากเก็บนี้มีวิธีเล่นพลิกแพลงหลายอย่าง เช่น การใช้มือซ้ายป้องและเขี่ยหรือเก็บหมากให้เข้าในมือทีละลูก ทีละ ๒ ๓ ๔ ตามลำดับ เรียกว่า "อีกาเข้ารัง" ถ้าเขี่ยไม่เข้าก็นับเป็นตาย ยังมี "อีกาออกรัง" "รูปู" ซึ่งใช้มือซ้ายรูปต่าง ๆ ถ้าใช้นิ้วกลางและหัวแม่มือยืนพื้น นิ้วอื่นปล่อยเป็นรูปเหมือนซุ้มประตู ก็เรียกว่า "อีกาออกรัง" ถ้าใช้นิ้วกลางกับนิ้วแม่มือขดเป็นวงกลมนิ้วชี้ชี้ตรง นิ้วนอกนั้นยันพื้นเป็นรูปเหมือนรูปู ก็เรียก "รูปู" ผู้เล่นต้องเก็บหมากลงในรูปู หรือเขี่ยออกนอกรังในขณะที่รับลูกโยนให้ได้พร้อมกัน การละเล่นชนิดนี้ต้องอาศัยการคาดคะเนให้ดี ในขณะโยนลูกว่าควรจะสูงต่ำเพียงใด ในการโปรยลูกว่าถึงกำหนดต้องเก็บเท่าไร จะได้โปรยให้หมากเหล่านั้นอยู่ชิดหรือห่างกันอย่างไร เพราะถ้ามือที่เก็บไปถูกหมากอีกลูกหนึ่ง ซึ่งไม่ได้อยู่ในแม่ที่กำหนดไว้ก็ถือเป็นตายเหมือนกัน เช่น หมากหนึ่ง ถ้าไม่โปรยให้ห่างกันเกิดมีหมาก ๒ ลูกไปชิดกันเข้าก็ต้องพยายามเก็บลูกหมากลูกนั้นไม่ให้กระเทือนถึงอีกลูกหนึ่ง ถ้าถูกอีกลูกหนึ่งก็ถือว่าเป็น หรือถ้าเก็บหมาก ๒ เกิดไปชิดกัน ๓ ลูก ก็เก็บลำบาก ความสนุกอยู่ตรงคอยจ้องจับว่าใครจะตาย (ทำไมมันโหดร้ายขนาดนี้ T^T)
คุณค่าสาระ
          ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก ฝึกความว่องไว ไหวพริบ ความระมัดระวัง และฝึกสายตาอีกด้วย

*****************************************************************************************************************
:+:การละเล่นพื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ:+:
    เราเขยิบเล่นฝั่งมาทางเมืองหมอลำกันบ้างเด้อ~

- วิ่งขาโถกเถก

     การละเล่นนี้คือการใช้ไม้ไผ่ที่ยาวและแข็งแรง! มาเดินแข่งกันหรือเดินเล่นกับเพื่อนก็ได้ แต่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญสักหน่อย เพราะถ้าเล่นไม่เป็นอาจจะล้มหัวฟาดพื้นได้นะคะ!!
วิธีการเล่น
          ไม้ไผ่ท่อนเล็กขนาดพอเหมาะมือจับได้มั่น ๒ ท่อน ยาวท่อนละประมาณ ๑.๕๐ - ๒ เมตร เลือกไม้ไผ่ที่มีแขนงที่แข็งแรงยื่นออกมาจากบ้องโดยกะขนาดให้ได้ความสูงในการที่จะขึ้นไปยืนและก้าวเดินได้ตามที่ต้องการ หากหาไม้ไผ่ที่แขนงแข็งแรงจากปล้องไม่ได้ คะเนความสูงตามที่ต้องการแล้วทำเครื่องหมายไว้ จากนั้นเจาะรูจากที่ทำเครื่องหมายให้ทะลุไปอีกด้านหนึ่ง หาไม้เหนียว ๆ แข็งแรง หรือเหล็กสอดเข้าไปในรูทำสลัก และหาไม้ไผ่ท่อนยาวประมาณ ๑ คืบ ๑ คู่ ไม้ไผ่คู่นี้เลือกตัดให้มีปล้องไม้ไผ่อยู่ตรงกลาง เหนือปล้องไม้ไผ่ด้านหนึ่งเจาะเป็นรูกว้างพอที่จะสวมไม้ไผ่ท่อนยาวได้ให้ลงมาวางอยู่บนแขนงไม้ที่ยื่นจากปล้องหรือลงบนไม้หรือเหล็กที่ทำสลักไว้เวลาเล่นขึ้นไปเหยียบบนท่อนไม้ที่สวมไม้ท่อนยาววางเท้าให้มั่นๆและจับไม้ท่อนยาวให้ตั้งตรง ก้าวเดินไปคล้ายเดินธรรมดา หากหัดจนชำนิชำนาญก็พาไม้วิ่งได้รวดเร็ว ถ้าต้องเดินสูงมากจะทำรูสลักสูง เวลาขึ้นไปยืนบนไม้โถกเถกต้องใช้บันไดบ้านหรือกำแพงสำหรับพิงไม้โถกเถกแล้วขึ้นไปยืน
คุณค่าสาระ
          การเล่นไม้โถกเถก จะทำให้ผู้เล่นรู้จักระมัดระวังตนไม่ประมาทไม้โถกเถกเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่คิดทำของเล่นให้เด็ก ๆ จากธรรมชาติที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น
          การแข่งขันวิ่งไม้โถกเถกทำให้เกิดความสามัคคีทั้งผู้ล่นและผู้มาให้กำลังใจ และความสมัครสมานสามัคคีของชุมชนได้รับความสนุกสนานโดยไม่สิ้นเปลือง การเลือกตัดไม้ไผ่มาทำไม้โถกเถก การฝึกเดินเป็นการสืบทอดความรู้ภูมิปัญญาจากคนหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่งต่อไป

*****************************************************************************************************************
:+:การละเล่นพื้นบ้านภาคเหนือ:+:
    ผ่านภาคอีสานมาแล้ว ตอนนี้เรามาดูการละเล่นของภาคเหนือกันนะเจ้า~~

- ม้าจกคอก

     สำหรับการละเล่นม้าจกคอก ก็คือจะมีผู้ชายหรือผู้หญิงสองคนเป็นคนจับไม้ไผ่แล้วขยับตามจังหวะ อีกส่วนหนึ่งคือผู้เล่น จะมีกี่คนก็ได้ มักจะเล่นกันเป็นคู่ แล้วก็เต้นโดยต้องข้ามไปอีกฝั่งซึ่งขาห้ามโดนไม้ไผ่หนีบนะคะ ไม่งั้นเจ็บแน่เลย
อุปกรณ์
จำนวนผู้เล่น ตั้งแต่ ๓ คนขึ้นไป
อุปกรณ์ 
๑. ไม้กลมขนาดกำรอบ ยาวประมาณ ๕ ศอก จำนวน ๒ ท่อน
๒. ขอนไม้สูงประมาณ ๑ คืบ ยาวประมาณ ๑-๒ ศอก จำนวน ๒ ท่อน
สถานที่เล่น เล่นบริเวณที่เป็นลานกว้าง
วิธีการเล่น
๑. แบ่งผู้เล่นออกเป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายแรกมี ๒ คน สำหรับถือท่อนไม้ที่วางขนานบนขอนไม้ แล้วกระทบกันเป็นจังหวะ ส่วนฝ่ายที่ ๒ มี ๒ คนขึ้นไป สำหรับเป็นผู้เต้น
๒. ให้ผู้เล่นเข้าไปอยู่ระหว่างคาน ผู้ถือไม้คานทั้งคู่ก็ทำสัญญาณ โดยยกคานไม้ทั้งคู่กระแทกลงบนไม้หมอน ระหว่างที่เคาะจังหวะอยู่นั้นผู้เล่นต้องเต้นไปด้วย เมื่อให้สัญญาณเคาะ ๓ ครั้งแล้ว ครั้งที่ ๔ ผู้ถือจะเอาคานทั้งสองเข้าชิดกัน ผู้เต้นจะต้องกระโดดให้สูงกว่าครั้งแรกของจังหวะและแยกขาออกให้พ้นไม้ ถ้าถูกหนีบเรียกว่า ม้าขำคอก หรือม้าติดคอก คู่ที่ถูกไม้หนีบจะต้องออกไปเปลี่ยนให้ผู้ที่ถือคานอยู่เดิมนั้นเข้ามาเต้นในระหว่างคานนั้นบ้าง
คุณค่าสาระ
          การเล่นม้าจกคอก เป็นการละเล่นเพื่อให้ความสนุกสนาน เพลิดเพลิน ทำให้เกิดความสามัคคีภายในกลุ่มและความมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

*****************************************************************************************************************
:+:การละเล่นพื้นบ้านภาคใต้:+:
    ภาคสุดท้ายก็คือภาคใต้นั่นเองค่ะ ! แล้วภาคใต้เค้าเล่นไอ่ไร้กัน(อะไร) ?

- เป่ากบ
          การละเล่นนี้เราไม่ได้เอากบ อ๊บ อ๊บ มาเป่ากันจริงๆนะคะ แต่เราจะใช้ยางวงสำหรับรัดถุงอาหารมาเป่าแข่งกันว่ากบของใครจะกินอีกฝ่ายได้ก่อน ! แต่ระวังเรื่องกลิ่นปากด้วยนะคะ!!
อุปกรณ์
๑. ยางวง (ยางเส้น) วงใหญ่ หรือวงเล็กก็ได้ แล้วแต่ความชอบและความถนัด
๒. ผู้เล่นจำนวนตั้งแต่ ๒ คน หรือมากกว่า เล่นทั้งเด็กชายและเด็กหญิงบางครั้งอาจเล่นเป็นทีมก็ได้
๓. สถานที่ เช่น พื้นซีเมนต์ พื้นกระดาน หรือพื้นโต๊ะ
วิธีการเล่น
          เป่ากบเป็นการเล่นอย่างหนึ่งของเด็ก เล่นกันทั้งเด็กชายและหญิง ผู้เล่นมีจำนวน ๒ คน หรือเป็นทีมก็ได้ สถานที่เล่น ในที่ร่ม ใช้พื้นที่เรียบ ๆ เช่น พื้นซีเมนต์ พื้นกระดาน หรือพื้นโต๊ะ ซึ่งผู้เล่นจะเอายางเส้น (ยางวง) จะเป็นวงเล็กหรือวงใหญ่ หรืออาจจะเป็นวงสีต่าง ๆ อยู่ที่ความชอบ ได้แก่ สีเขียว สีแดง สีน้ำตาล เป็นต้น นำมาวางบนพื้นคนละ ๑ เส้น ให้อยู่ห่างกันประมาณ ๑ ฟุต ผู้เล่นจะผลัดกันเป่ายางเส้น (ยางวง) ของตนไปข้างหน้าทีละน้อย ๆ จนยางเส้นทั้งสองมาอยู่ใกล้กันผุ้เล่นคนใดเป่าให้ยางเส้นของตนไปทับยางเส้นของฝ่ายตรงข้ามได้ก็จะเป็นผู้ชนะ ฝ่ายแพ้จะต้องจ่ายรางวัลให้กับผู้ชนะ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นยางเส้น (ยางวง) แต่อาจให้รางวัลอื่น ๆ ก็ได้ตามแต่จะตกลงกัน
คุณค่าสาระ
๑. การเล่นเป่ากบ เป็นการเล่นที่ให้ความสนุกสนานแล้วยังเป็นการฝึก การรู้กำหนดจังหวะและกะระยะด้วย
๒. การเล่นเป่ากบเป็นการฝึกสังเกต ไหวพริบในการเป่าของคู่ต่อสู้ ซึ่งจะเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้เด็กรู้จักคิดให้รอบคอบก่อนที่จะเป่า ถ้าเป่าโดยไม่คิดอาจจะผิดพลาดได้ จนทำให้ต้องแพ้
๓. เป็นการฝึกให้เด็กรู้จักความรัก ความสามัคคี

*****************************************************************************************************************
ทั้งหมดนี้เราก็ได้นำตัวอย่างการละเล่นในภาคต่างๆของประเทศไทยมาให้อ่านกันดูนะคะ เป็นยังไงกันบ้างคะ? แต่ละภาคของเพื่อนๆหรือคนที่เข้ามาในบล็อคนี้มีการละเล่นอะไรกันบ้าง? ของ จขบ. มีเกือบทุกอย่างเลยค่ะ สนุกมากๆเลยนะคะเวลานัดเพื่อนมาเล่นด้วยกัน ทุกๆคนก็ช่วยกันอนุรักษ์การละเล่นนี้ให้คงอยู่ไปยาวนาน~~ นะคะ !!


จัดทำโดย...
นางสาวอชิรญา  รัตนพงศ์   เลขที่๓๙  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่๕/๑๖
โรงเรียนระยองวิทยาคม จังหวัดระยอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น